เป็น “เก๊าท์” ทำไม่ถึงห้ามกินไก่? - โรคเก๊าท์

อ่าน 215 ครั้ง 22/Sep/23


 

เป็น “เก๊าท์” ทำไม่ถึงห้ามกินไก่? 

โรคเก๊าท์ คือ โรคข้ออักเสบที่เกิดจากกรดยูริกในเลือดสูง โดยกรดยูริกถูกสร้างมาจากสารพิวรีน ซึ่งปกติร่างกายสร้างขึ้นเองและได้มาจากอาหาร เมื่อผลึกของกรดยูริกตกตะกอนในน้ำไขข้อของกระดูกต่างๆ ซึ่งมักเป็นบริเวณ หัวแม่เท้า ข้อเท้า ทำให้เกิดอาการปวด ทั้งนี้โรคเก๊าท์ จัดเป็นหนึ่งในโรคแทรกซ้อนของโรคอ้วน ไขมันในเลือดสูง ความดันโลหิตสูง โรคเบาหวาน และโรคไต หลายๆ คน คงเคยได้ยินว่า คนที่เป็นโรคเก๊าท์ ไม่ควรกินไก่ เพราะจะทำให้โรคเก๊าท์แย่ลง อาการปวดตามข้อต่างๆ จะเพิ่มมากขึ้น แต่ความจริงจะเป็นแบบนั้นหรือไม่ ก่อนอื่นเราทำความรู้จักกับ “อาหารต้านเก๊าท์” กันก่อน

อาหารต้านเก๊าท์

  1. ลดการกินเนื้อแดง เครื่องในสัตว์ อาหารทะเลบางชนิด แต่สามารถกินปลาได้ ทั้งปลาทะเล และปลาน้ำจืด ซึ่งปลา   เป็นแหล่งของโอเมก้า 3 ที่มีคุณสมบัติช่วยลดการอักเสบ นอกจากนี้ยังสามารถเลือกกิน ไก่ ไข่ ซึ่งเป็นแหล่งของโปรตีนคุณภาพดีที่ย่อยง่ายได้ในปริมาณที่เหมาะสม 

  2. กินคาร์โบไฮเดรตเชิงซ้อนและโปรตีนจากพืช ข้าวกล้อง ลูกเดือย ถั่วแดง ถั่วเหลือง หรือธัญพืชชนิดอื่นๆ ซึ่งเป็นอาหารที่มีใยอาหารสูง นอกจากนี้ยังมีโปรตีน โดยเฉพาะผลิตภัณฑ์จากถั่วเหลือง เช่น เต้าหู้

  3. กินอาหารที่มีสารต้านอนุมูลอิสระ สารต้านอนุมูลอิสระช่วยลดการอักเสบได้ ซึ่งพบมากในผักและผลไม้

  4. กินไขมันที่ดีจากถั่วต่างๆ เช่น อัลมอนด์ เมล็ดมะม่วงหิมพานต์ ควรกินถั่ววันละประมาณ 1 กำมือ 

  5. ดื่มน้ำเปล่าเป็นประจำ 2-3 ลิตรต่อวัน เพื่อช่วยการขับกรดยูริกผ่านทางปัสสาวะ

  6. ลดหรืองดเครื่องดื่มที่มีน้ำตาลทรายและน้ำตาลฟรุกโตส  น้ำผึ้ง น้ำอัดลม หรืออาหารอื่นๆ ที่มีส่วนผสมของน้ำเชื่อม ฟรุกโตสเข้มข้น (High fructose corn syrup) ทำให้กรดยูริกในเลือดสูงขึ้นได้

  7. หลีกเลี่ยงเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ นอกจากทำให้กรดยูริกในเลือดสูงแล้ว ยังทำให้ควบคุมน้ำหนักตัวยากอีกด้วย

  8. จดบันทึกรายการอาหารที่กินแล้วอาการเก๊าต์กำเริบ อาหารชนิดใดกินแล้วปวดมากขึ้น ให้หลีกเลี่ยงอาหารชนิดนั้น
     

นอกจากเรื่องอาหารแล้ว การออกกำลังกายเป็นประจำก็ช่วยส่งเสริมการรักษาโรคเก๊าท์ให้ดีขึ้น  ช่วยควบคุมน้ำหนักตัว ลดแรงกดที่ข้อ จะเห็นได้ว่า “ไก่” ไม่ได้เป็นอาหารต้องห้ามของผู้เป็นโรคเก๊าท์ แต่หากผู้ป่วยท่านใดกินไก่แล้วอาการปวดตามข้อเพิ่มมากขึ้น ก็ควรงด และเลือกโปรตีนจากแหล่งอื่นทดแทน เช่น ปลา ไข่ หรือโปรตีนจากพืช

 


บทความที่เกี่ยวข้อง

สาระสุขภาพอื่นๆ