อ่าน 182 ครั้ง 19/Sep/23
การสร้างภูมิคุ้มกันให้แข็งแรง เป็นอีกหนึ่งวิธีการเอาชนะกับโรคภูมิแพ้ เพื่อให้ร่างกายต่อสู้กับสารก่อภูมิแพ้ได้ ด้วยการดูแลตนเอง ปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการใช้ชีวิต การทำความสะอาด จัดเก็บพื้นที่ทำงาน ที่อยู่อาศัย หลีกเลี่ยงและกำจัดสารก่อภูมิแพ้
1.กลุ่มภูมิแพ้ผิวหนัง
ได้แก่ ผื่นภูมิแพ้ผิวหนัง มักพบบ่อยในเด็กเล็กอายุตั้งแต่ 1-2 เดือน จนถึงเด็กโต มักมีอาการแสดงเป็นผื่นแห้งแดง คันตามบริเวณผิวหนัง มีตำแหน่งจำเพาะในการเกิด คือ บริเวณแก้ม บริเวณข้อพับ โดยการเกิดภูมิแพ้ในกลุ่มนี้มักจะมีความสัมพันธ์กับกลุ่มภูมิแพ้อาหาร ซึ่งควรได้รับการตรวจวินิจฉัยให้ชัดเจน เพราะอาจเกิดจากการแพ้อาหารจริง หรืออาจเป็นเพียงอาการแสดงจากการได้รับกระตุ้นจากอาหารเท่านั้น
มีวิธีการดูแลรักษา การทาโลชั่นที่มีส่วนผสมของมอยส์เจอร์ไรเซอร์เพิ่มความชุ่มชื้นให้กับผิวหนัง ลดอาการผิวแห้งที่ทำให้เกิดอาการคันและแดง หลีกเลี่ยงปัจจัยกระตุ้น เช่น ไม่ใช้น้ำหอม ลดการอาบน้ำอุ่น กรณีเป็นผื่นแพ้ที่มีความสัมพันธ์กับอาหาร ควรหลีกเลี่ยงอาหารชนิดนั้นๆ
2.กลุ่มภูมิแพ้อากาศ
คือภาวะที่เกิดการแพ้สารก่อภูมิแพ้ที่อยู่ในอากาศ ทำให้มีอาการคัดจมูก จาม มีน้ำมูก โดยการมีน้ำมูกในบางคนพบว่าเป็นการมีน้ำมูกไหลลงคอ ทำให้เกิดเสียงแหบตามมา หรือในบางรายพบว่ามีน้ำมูกที่ค้างในโพรงจมูก ทำให้เกิดเลือดกำเดา หากไม่ได้รับการรักษาอย่างเหมาะสมจะเกิดภาวะแทรกซ้อนตามมาได้ เช่น ไซนัสอักเสบ หูชั้นกลางอักเสบ กลุ่มภูมิแพ้อากาศมักพบได้ในเด็กตั้งแต่อายุประมาณ 2 ปี และสามารถเป็นได้ไปจนถึงวัยผู้ใหญ่
วิธีการดูแลรักษา หลีกเลี่ยงสารก่อภูมิแพ้ และกลุ่มมลภาวะ เช่น ควันรถ ควันบุหรี่ ควันธูป ควันจากการประกอบอาหาร และฝุ่น PM 2.5 เป็นต้น ร่วมกับการใช้ยาในการควบคุมอาการตามระบบในร่ากายที่ผู้ป่วยเป็น หมั่นออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ และนอนหลับพักผ่อนให้เพียงพอ
3.กลุ่มภูมิแพ้อาหาร
ถือเป็นกลุ่มโรคที่พบบ่อยในผู้ป่วยเด็ก ซึ่งสารก่อภูมิแพ้อาหารที่พบบ่อย ได้แก่ นมวัว ไข่ขาว แป้งสาลี กรณีเด็กโตหรือผู้ใหญ่ สารก่อภูมิแพ้อาหารที่พบบ่อยจะเป็นกลุ่มอาหารทะเล
วิธีการดูแลรักษา ต้องได้รับการตรวจประเมินชนิดของอาหารที่แพ้ หากเป็นชนิดอาหารที่สามารถรักษาได้ เช่น นมวัว ไข่ขาว แป้งสาลี จะแนะนำให้งดอาหารนั้นๆ หลังจากงดอาหารแล้ว จะมีการตรวจติดตามค่าการแพ้ผ่านผลเลือด ทุก 4-6 เดือน หากค่าการแพ้ลดลงในระดับที่สามารถพอจะทานอาหารนั้นได้ จะให้มี 'การทดสอบการแพ้อาหาร Oral Food Challenge Test' เพื่อยืนยันผลการแพ้อาหาร ว่าสามารถทานอาหารชนิดนั้นๆ ได้หรือไม่
หากเป็นกลุ่มอาหารชนิดที่ไม่สามารถรักษาจนหายขาดได้ เช่น อาหารทะเล ควรหลีกเลี่ยงอาหารทะเล รวมถึงหลีกเลี่ยงกลุ่มที่สัมพันธ์กันด้วย เช่น ผู้ป่วยที่พบว่า แพ้กุ้ง ควรหลีกเลี่ยงสัตว์ทะเลชนิดเปลือกแข็งอื่นๆ ด้วย เช่น กั้ง ปู ทั้งนี้ในกรณีที่มีอาการแพ้รุนแรง อาจต้องมีการพกยาฉีดฉุกเฉิน อะดรีนาลีน (Adrenaline) ไว้ด้วย