โรคกระเพาะอาหารเกิดจากอะไร - วิธีรักษาด้วยตัวเอง

อ่าน 326 ครั้ง 18/Sep/23


 

โรคกระเพาะอาหารเกิดจากอะไร - วิธีรักษาด้วยตัวเอง

เมื่อนึกถึงโรคกระเพาะอาหาร คืออาการปวดแสบ เสียด จุกแน่นบริเวณลิ้นปี่ทั้งเวลาก่อนรับประทานอาหารและหลังรับประทานอาหาร คนโดยทั่วไปจึงมักสรุปกันเองว่าถ้ามีอาการ “หิวก็ปวด อิ่มก็ปวด” เป็นโรคเกี่ยวกับกระเพาะอย่างแน่นอนสำหรับโรคแผลกระเพาะอาหารหรือที่คนโดยทั่วมักเรียกกันว่าโรคกระเพาะอาหารนั้น หมายถึงแผลที่เกิดในเยื่อบุกระเพาะอาหารที่สัมผัสกับน้ำย่อยของกระเพาะอาหาร ผู้ที่มีอาการปวดท้องจากโรคกระเพาะอาหารมีที่มาจากกรดในกระเพาะอาหารมาก ซึ่งทำให้ระคายเคืองจนส่งผลเกิดเป็นแผลในกระเพาะอาหาร และในหลายกรณีไม่ได้ปวดตลอดเวลา จะมีการเป็นๆ หายๆ ก่อนและหลังเวลาอาหาร อาการปวดท้องจะทุเลาหากได้รับประทานอาหาร ผู้ที่เป็นโรคกระเพาะอาหารต้องได้รับการรักษาอย่างถูกต้องและต่อเนื่อง เพราะหากละเลยอาการจนในที่สุดจากอาการปวดท้องเพราะกรดในกระเพาะอาหาร อาจมีภาวะแทรกซ้อนเลือดออกในกระเพาะอาหาร กระเพาะลำไส้เป็นแผลทะลุ เป็นต้น

ที่มาของโรคกระเพาะอาหาร

สาเหตุหลักของโรคกระเพาะอาหารเกิดจากการเสียสมดุลของกรดที่หลั่งออกมา ไปทำลายเยื่อบุกระเพาะอาหาร ซึ่งเยื่อบุกระเพาะอาหารมีความต้านทานกรดได้ไม่ดี ปัจจัยที่เกี่ยวข้องกับการเกิดโรคที่พบมากในปัจจุบัน คือ การใช้ชีวิต ความเครียด ความกังวล ที่พบได้บ่อยในสังคมการทำงาน รวมถึงวิถีชีวิตในด้านการรับประทานอาหารที่ไม่ดีและการละเลยสุขภาพ เช่น การรับประทานอาหารไม่ตรงเวลา การอดอาหาร การรับประทานอาหารรสจัดเป็นประจำ การสูบบุหรี่ การดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ การรับประทานยาแก้ปวดจำพวก Aspirin ยาลดการอักเสบเป็นประจำ และอีกหนึ่งสาเหตุของโรคที่สำคัญ คือ การติดเชื้อเฮลิโคแบคเตอร์ ไพโลไร หรือเรียกย่อๆ ว่า เอชไพโลไร (Helicobacter pylori หรือย่อว่า H.pylori) มีการถ่ายทอดจากคนสู่คน จากการรับประทานอาหาร เชื้อจะเข้าสู่กระเพาะอาหารและเลื่อนเข้าสู่เซลล์เยื่อบุผิว ซึ่งเชื้อนี้เป็นปัจจัยเสี่ยงในการเกิดโรคมะเร็งกระเพาะอาหาร

อาการของโรคกระเพาะอาหาร

อาการของโรคจะมีอาการปวดท้องเป็น ๆ หาย ๆ เรื้อรังบริเวณใต้ลิ้นปี่ เวลาปวดมักจะสัมพันธ์กับมื้ออาหาร เช่น ก่อนหรือหลังอาหาร จะมีอาการปวดแสบ จุกแน่น อาจมีอาการคลื่นไส้ เรอเปรี้ยว กรณีที่มีแผลบริเวณลำไส้เล็กส่วนต้นมักมีอาการปวดท้อง หลังอาหารประมาณ 1-3 ชั่วโมง หรือขณะท้องว่าง จะปวดมากขึ้นในช่วงบ่าย เย็น ตอนดึก อาการจะดีขึ้นทันทีหลังรับประทานอาหาร ดื่มนม รับประทานยาลดกรด

การตรวจวินิจฉัยโรคกระเพาะอาหาร

แพทย์จะทำการซักประวัติและตรวจร่างกาย และบางรายอาจส่งตรวจเพิ่มเติมด้วยการส่องกล้องตรวจกระเพาะอาหารและลำไส้เล็กส่วนต้น และทำการตรวจหาเชื้อเฮลิโคแบคเตอร์ไพโลไร

การรักษาและการดูแลตนเองของผู้ที่เป็นโรคกระเพาะอาหาร

การรับกระทานยาร่วมกับการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการใช้ชีวิต ได้แก่

  • รับประทานยาต่อเนื่องตามที่แพทย์กำหนดอย่างเคร่งครัด
  • รับประทานอาหารให้ตรงเวลาทุกมื้อ
  • รับประทานอาหารอ่อน ย่อยง่าย
  • รับประทานอาหารในปริมาณที่ไม่มากเกินไป
  • งดบุหรี่ แอลกอฮอล์ ชา กาแฟหรือเครื่องดื่มกาเฟอีน น้ำอัดลม
  • หลีกเลี่ยงอาหารรสจัด เผ็ดจัด เปรี้ยวจัด ของหมักดอง
  • ทุกครั้งที่รับประทานอาหารควรเคี้ยวให้ละเอียด
  • หลีกเลี่ยงการใช้ยาแอสไพริน ยาต้านอักเสบที่ไม่ใช่เสตอรอยด์ ยาสเตอรอยด์ และปรึกษาแพทย์ทุกครั้งที่ใช้ยา
  • หลีกเลี่ยงความเครียด ความกังวล พักผ่อนให้เพียงพอ

 


บทความที่เกี่ยวข้อง

สาระสุขภาพอื่นๆ