อ่าน 155 ครั้ง 15/Sep/23
1. อาหารที่มีน้ำตาล
มีการศึกษาในผู้ป่วยโรคข้ออักเสบรูมาตอยด์ จำนวน 217 คน พบว่า อาหารและเครื่องดื่มรสหวานที่มีน้ำตาล มีส่วนทำให้อาการแย่ลง อีกทั้งการศึกษาในคนอายุ 20-30 ปี จำนวน 1,209 คน ยังพบอีกว่า ผู้ที่ดื่มเครื่องดื่มที่มีน้ำตาลฟรุกโตส 5 ครั้งต่อสัปดาห์หรือมากกว่านั้น มีโอกาสเป็นโรคข้ออักเสบมากกว่าผู้ที่ดื่มเครื่องดื่มแบบหวานน้อยหรือไม่มีเลยถึง 3 เท่า เรียกได้ว่าอาหารและเครื่องดื่มรสหวานที่มีน้ำตาลนั้นมีส่วนเพิ่มความเสี่ยงของโรคข้ออักเสบและข้ออักเสบรูมาตอยด์ได้นั่นเอง
2. เนื้อแดง เนื้อแปรรูป
เนื้อแปรรูปและเนื้อแดง มีส่วนทำให้เกิดการอักเสบสูง ซึ่งอาจจะทำให้อาการข้ออักเสบเพิ่มขึ้นได้ โดยมีการศึกษาในผู้ป่วยโรคข้ออักเสบรูมาตอยด์ จำนวน 217 คน กลุ่มเดียวกับที่ได้กล่าวมาแล้ว พบว่า เนื้อแดงมีส่วนทำให้อาการแย่ลง อีกทั้งยังมีการศึกษาในคนจำนวน 25,630 คน พบอีกว่า การกินเนื้อแดงมากๆ อาจเป็นปัจจัยเสี่ยงของโรคข้ออักเสบได้
3. อาหารแปรรูป
อาหารแปรรูปที่มีธัญพืชขัดสี น้ำตาล สารกันบูด เหล่านี้มีส่วนทำให้เกิดการอักเสบ ส่งผลต่ออาการข้ออักเสบที่แย่ลงได้ ซึ่งมีงานวิจัยในชาวตะวันตกที่กินอาหารแปรรูปสูงๆ นั้น พบว่ามีส่วนเพิ่มความเสี่ยงของโรคข้ออักเสบรูมาตอยด์ โดยจะก่อให้เกิดการอักเสบ รวมถึงปัจจัยเสี่ยงต่างๆ อย่างเช่น โรคอ้วนได้
4. อาหารที่มีเกลือสูง
การลดบริโภคเกลือถือเป็นตัวเลือกที่ดีต่อผู้ป่วยโรคข้ออักเสบ โดยมีการศึกษาในหนูพบว่า โรคข้ออักเสบจะรุนแรงกว่าในหนูที่กินอาหารที่มีเกลือสูง มากกว่าหนูที่ได้รับเกลือในระดับปกติ รวมถึงยังมีการศึกษาในหนู เป็นเวลา 62 วัน พบว่า การบริโภคเกลือน้อยมีส่วนช่วยลดความรุนแรงของข้ออักเสบรูมาตอยด์ ซึ่งกระดูกจะถูกทำลาย สลายตัว หรืออักเสบน้อยกว่าเมื่อเทียบกับอาหารที่มีเกลือสูง ซึ่งการศึกษาในคนก็มีเช่นกัน โดยคนจำนวน 18,555 คนที่เชื่อมโยงกับการบริโภคโซเดียมสูง มีความเสี่ยงต่อโรคข้ออักเสบรูมาตอยด์ที่เพิ่มขึ้นตามมา
5. อาหารที่มี AGEs สูง
AGEs หรือ Advanced Glycation End Products ถือเป็นสารที่เกิดจากการรวมกันระหว่างน้ำตาล กับ โปรตีนหรือไขมัน เช่น เนื้อสัตว์ที่มีไขมันและโปรตีนสูงที่ทำการทอดหรือย่าง ไม่ว่าจะเป็น เบคอน สเต๊ก ไก่ ฮอทดอก เฟรนช์ฟรายส์ เป็นต้น ซึ่งเมื่อร่างกายมี AGEs สูง ก็จะทำให้เกิดการอักเสบและความไม่สมดุลกันระหว่างระบบต้านอนุมูลอิสระกับสารต้านอนุมูลอิสระ (Oxidative Stress) ส่งผลให้เกิดโรคข้ออักเสบได้ ซึ่งผู้ป่วยโรคข้ออักเสบนั้นเรียกได้ว่ามี AGEs ที่สูงกว่าผู้ที่ไม่ได้เป็นโรค อีกทั้งการสะสมของ AGEs ในกระดูกและข้อต่อยังมีส่วนในการพัฒนาโรคข้อเข่าเสื่อมได้อีกด้วย
6. อาหารที่มีกลูเตน
กลูเตน (Gluten) เป็นโปรตีนที่อยู่ในข้าวสาลี ข้าวบาร์เลย์ ข้าวไรย์ และข้าวทริติเคลี (Triticale) ซึ่งบางงานวิจัยนั้นเชื่อมโยงอาหารเหล่านี้กับการอักเสบที่เพิ่มขึ้น อีกทั้งในผู้ป่วยโรคเซลิแอค (Celiac Disease) หรือโรคที่ระบบภูมิคุ้มกันตอบสนองต่อกลูเตน ก็มีความเสี่ยงที่จะเกิดการพัฒนาของโรคข้ออักเสบรูมาตอยด์ได้ เช่นเดียวกับผู้ป่วยโรคข้ออักเสบรูมาตอยด์ก็มีแนวโน้มที่จะเป็นโรคเซลิแอคได้มากกว่าคนทั่วไป