การรักษาโรครูมาตอยด์

อ่าน 132 ครั้ง 14/Sep/23


 

การรักษาโรครูมาตอยด์

1.รักษาด้วยกายภาพบำบัดข้อ

  • หากเพิ่งเริ่มเป็น สามารถดูแลรักษาด้วยการประคบร้อน หรือแช่ข้อที่ปวดอักเสบกับน้ำอุ่น
  • ในเวลากลางคืนหรือตอนที่มีอาการปวดมากๆ ควรใส่เฝือกชั่วคราว เพื่อลดอาการปวดและป้องกันไม่ให้เกิดข้อผิดรูป
  • ควรหมั่นขยับตัว เคลื่อนไหวให้มากเพื่อไม่ให้ข้อติด ออกกำลังกายเบาๆ เช่น การบีบฟองน้ำ ลูกบอลยาง เพื่อสร้างความแข็งแรงให้กล้ามเนื้อ
  • เปลี่ยนประตูแบบลูกบิดมาใช้แบบเลื่อน ก๊อกน้ำเปลี่ยนมาเป็นแบบคันโยกแทนการหมุน จะไม่ทำให้อาการของโรคเกิดความรุนแรงหนักขึ้น

2. การใช้ยากลุ่มต้านการอักเสบชนิดไม่ใช่สเตียรอยด์ การใช้การรักษาด้วยยาค่อนข้างช่วยลดอาการปวดบวมของข้อได้อย่างดี แต่ผลข้างเคียงจากการใช้ยากลุ่มนี้ คือ คลื่นไส้ วิงเวียนศีรษะ แสบท้อง เกิดแผลในกระเพาะอาหาร ในปัจจุบันมียาที่ส่งผลต่อกระเพาะอาหารน้อยลงแต่ราคาค่อนข้างสูง ซึ่งควรพิจารณาใช้กับผู้ป่วยที่เสี่ยงต่อการเกิดแผลในทางเดินอาหาร เช่น ผู้สูงอายุและผู้ที่เคยเป็นแผลทางเดินอาหารมาก่อน

3. การรักษาด้วยการใช้ยากลุ่มสเตียรอยด์ ยากลุ่มนี้ใช้ได้ทั้งกินและฉีดและมีผลข้างเคียงรุนแรง อาการที่พบคือ กระดูกพรุน ติดเชื้อง่าย ซึ่งจะนำมาใช้รักษาเมื่ออาการอักเสบรุนแรง ไม่ควรใช้ติดกันเป็นเวลานานหรือใช้ในปริมาณที่สูง เมื่อพบว่าอาการทุเลาก็ควรลดปริมาณให้น้อยลง

4. รักษาด้วยยากลุ่มยับยั้งข้ออักเสบรูมาตอยด์แต่ออกฤทธิ์ช้า แพทย์จะพิจารณานำมาใช้กับผู้ป่วยที่มีข้อบ่งชี้ในการใช้ยา แต่มีข้อเสีย คือ ออกฤทธิ์ช้า ต้องให้ยาติดต่อกันอย่างน้อย 2 เดือนจึงเริ่มเห็นผล กรณีที่ต้องใช้ยากลุ่มนี้จริงๆ ควรอยู่ในการดูแลของแพทย์อย่างเคร่งครัด

5. การผ่าตัด มีด้วยกันหลายวิธี เช่น ผ่าตัดกระดูกเพื่อปรับแนวข้อให้ตรงขึ้น ผ่าตัดเพื่อเลาะเอาเยื่อบุข้อที่มีอาการอักเสบออก ผ่าตัดเพื่อเชื่อมข้อให้ติดกันหรือใส่ข้อเทียมแทน ผ่าตัดเพื่อเย็บซ่อมหรือย้ายเส้นเอ็น

แผนการรักษาที่เหมาะสมจะพิจารณาจากโรคประจำตัวที่มีอยู่ก่อนของแต่ละคน ความรุนแรงของโรคข้ออักเสบรูมาตอยด์ การตอบสนองต่อการรักษา และผลข้างเคียงจากยา โดยแผนการรักษาอาจรวมไปถึงการใช้ยา การบำบัดแบบไม่ใช้ยา และการผ่าตัด

 


บทความที่เกี่ยวข้อง

สาระสุขภาพอื่นๆ