โรครูมาตอยด์เกิดจากอะไร?

อ่าน 270 ครั้ง 14/Sep/23


 

โรครูมาตอยด์

โรครูมาตอยด์เป็นโรคข้ออักเสบประเภทหนึ่ง เกิดจากการอักเสบเรื้อรังของข้อต่อ สามารถเกิดขึ้นได้ในส่วนต่าง ๆ ของร่างกาย โดยอาการจะค่อย ๆ ก่อตัวขึ้นและดำเนินต่อไปเรื่อย ๆ มักมีอาการเริ่มแรกในข้อขนาดเล็กในมือหรือเท้าในหลาย ๆ ตำแหน่ง เช่น มือ ข้อมือ พร้อมกัน หลังจากนั้นอาจย้ายสูงขึ้นไปที่ข้อเข่าหรือไหล่ เนื้อเยื่อภายในข้อต่อที่ได้รับความเสียหายมานานนำไปสู่อาการปวดเรื้อรัง ทรงตัวลำบาก และอวัยวะผิดรูป  ผู้ป่วยแต่ละคนจะเริ่มมีอาการของโรคข้ออักเสบรูมาตอยด์ในช่วงอายุที่ต่างกัน และมีอาการ ความรุนแรง และภาวะแทรกซ้อนที่ต่างกันอีกด้วย

ปัจจัยเสี่ยง

สาเหตุของโรคข้ออักเสบรูมาตอยด์นั้นยังไม่แน่ชัด แต่มีปัจจัย 2 ประเภทที่อาจเพิ่มความเสี่ยงให้เกิดโรคข้ออักเสบรูมาตอยด์

ปัจจัยที่ทำให้ร่างกายไวต่อการเกิดโรค

  • อายุ: คนทุกเพศทุกวัยสามารถเป็นโรคข้ออักเสบรูมาตอยด์ได้ แต่ความเสี่ยงจะเพิ่มขึ้นเมื่ออายุมากขึ้น
  • เพศ: ผู้หญิงมีความเสี่ยงที่จะเป็นโรคข้ออักเสบรูมาตอยด์สูงถึง 3 เท่า
  • พันธุกรรม: หากคนในครอบครัวเป็นโรคข้ออักเสบรูมาตอยด์ ความเสี่ยงจะสูงขึ้น

ปัจจัยกระตุ้นการเกิดโรค

ผู้ที่มีปัจจัยข้างต้นอาจไม่ป่วยเป็นโรคไขข้ออักเสบจนกว่าจะสัมผัสกับปัจจัยกระตุ้นอื่น ๆ อันได้แก่

  • การสูบบุหรี่
  • ความเครียด
  • การติดเชื้อ โดยเฉพาะโรคปริทันต์อักเสบ

อาการของโรค

ในระยะแรกผู้ป่วยโรคข้ออักเสบรูมาตอยด์อาจมีไข้ต่ำ ๆ ปวดเมื่อยกล้ามเนื้อ อ่อนเพลีย น้ำหนักลด และชาตามมือนานหลายสัปดาห์ก่อนที่จะเริ่มปวดตามข้อหรือข้อฝืดตึง

อาการปวดอาจเริ่มที่บริเวณข้อต่อเล็ก ๆ ก่อน เช่น ฐานนิ้วมือนิ้วเท้า และดําเนินต่อไปที่ข้อต่อที่มีขนาดใหญ่ขึ้น เช่นที่แขนหรือขา ผู้ป่วยมักมีอาการข้ออักเสบสมมาตร นั่นคือมีอาการในข้อต่อเดียวกันทั้ง 2 ข้าง  โดยอาจรู้สึกปวดที่ข้างใดข้างหนึ่งมากกว่าอีกข้าง อาการที่พบบ่อยคืออาการปวด ข้อยึดตึง กดเจ็บ และบวมร้อน อาการข้อยึดตึงจะเป็นมากในตอนเช้าหรือหลังจากไม่เคลื่อนไหวร่างกายมาสักระยะ และมักปวดนานกว่า 1 ชั่วโมง

ในระยะแรกของโรคข้ออักเสบรูมาตอยด์ ข้อต่อที่อวัยวะเหล่านี้มักจะเกิดอาการก่อน

  • มือ: โรคข้ออักเสบรูมาตอยด์มักทำให้เกิดอาการกดเจ็บบริเวณข้อต่อของนิ้วมือและทำให้มือไม่มีแรงหยิบจับสิ่งของ อาการนิ้วและมือผิดรูป เช่น Boutonniere ซึ่งเกิดขึ้นเมื่อข้ออักเสบเป็นเวลานาน
  • ข้อมือ: งอข้อมือไปด้านหลังไม่ได้
  • ข้อศอก: ข้อที่บวมจะไปกดทับเส้นประสาททำให้รู้สึกชาตามนิ้วมือ
  • เท้า: รู้สึกกดเจ็บบริเวณโคนนิ้วเท้า ทำให้ผู้ป่วยลงน้ำหนักตัวที่ส้นเท้าแทน
  • ข้อเท้า: เส้นประสาทที่ถูกกดทับจากการอักเสบบริเวณข้อเท้าทำให้ชาที่เท้า
  • หัวเข่า: งอเข่าไม่ได้ เอ็นรองหัวเข่าหลวมและกระดูกหัวเข่าอาจเสียดสีกัน ทำให้เกิดภาวะถุงน้ำหลังหัวเข่า

ในระยะต่อมาอาการจะเริ่มลุกลามไปยังส่วนต่าง ๆ ของร่างกายดังต่อไปนี้

  • คอ: หัน ก้ม หรือเงยคอไม่ได้ มีอาการปวดศรีษะและปวดคอ
  • หัวไหล่: เคลื่อนไหวไหล่ได้จำกัด
  • สะโพก: เดินได้ลำบากเนื่องจากอาการสะโพกอักเสบ
  • ข้อต่อกระดูกอ่อนของกล่องเสียง: บางรายอาจมีอาการอักเสบของข้อต่อกระดูกอ่อนของกล่องเสียงใกล้หลอดลมทําให้หายใจลําบากและเสียงแหบ

 


บทความที่เกี่ยวข้อง

สาระสุขภาพอื่นๆ