เบาหวานชนิดที่ 1 และ 2 คืออะไรและแตกต่างกันอย่างไร ?

อ่าน 171 ครั้ง 13/Sep/23


 

เบาหวานชนิดที่ 1 และ 2 คืออะไรและแตกต่างกันอย่างไร ?

1. เบาหวานชนิดที่ 1 เบาหวานที่ต้องพึ่งอินซูลิน

สำหรับเบาหวานชนิดที่ 1 เป็นเบาหวานที่ไม่สามารถรักษาให้หายขาดได้ ซึ่งเกิดจากความผิดปกติของภูมิคุ้มกัน ที่ทำให้เกิดการโจมตี หรือทำลายเซลล์เบต้าของตับอ่อน จนไม่สามารถสร้างฮอร์โมนอินซูลิน ซึ่งเป็นฮอร์โมนที่ทำหน้าที่แปลงน้ำตาลกลูโคสให้เป็นพลังงานกับร่างกายนั่นเอง และโดยส่วนมากมักจะพบได้ในคนอายุน้อยเพราะมีความสัมพันธ์กับกรรมพันธุ์และสภาพแวดล้อมโดยรวม โดยการรักษาของผู้ป่วยเบาหวานชนิดที่ 1 นั้นจำเป็นต้องได้รับอินซูลินทุกวัน ในรูปแบบของยาฉีดตามคำแนะนำของแพทย์ ซึ่งหากขาดอินซูลินก็อาจทำให้เกิดภาวะแทรกซ้อนที่เสี่ยงต่อชีวิตได้

2. เบาหวานชนิดที่ 2 เบาหวานที่ไม่ต้องพึ่งอินซูลิน

สำหรับเบาหวานชนิดที่ 2 เป็นเบาหวานที่พบได้มากที่สุด ซึ่งเกิดจากการที่ร่างกายไม่สามารถผลิตอินซูลินได้เพียงพอ หรือมีประสิทธิภาพ ร่วมกับภาวะของการดื้ออินซูลินที่มาจากภาวะอ้วน น้ำหนักเกิน หรือมีไขมันสะสมในอวัยวะภายในเยอะ ทำให้น้ำตาลกลูโคสจากอาหารที่รับประทานเข้าไปไม่ถูกเปลี่ยนเป็นพลังงาน และหลงเหลือในหลอดเลือด ซึ่งสามารถสร้างความเสียหาย หรือก่อให้เกิดโรคอันตรายที่เกี่ยวกับหลอดเลือด เส้นประสาทในอนาคตได้ โดยส่วนมากมักพบในผู้ใหญ่วัยกลางคน แต่ทั้งนี้ก็สามารถพบในเด็กและวัยรุ่นได้เช่นกันแต่จะพบได้ในสัดส่วนน้อยกว่า สำหรับการรักษาโรคเบาหวานชนิดที่ 2 นี้ ส่วนใหญ่รักษาด้วยการรับประทานยาเพื่อควบคุมน้ำตาล หรือในบางรายอาจต้องฉีดยาอินซูลินเพื่อรักษาระดับสมดุลของอินซูลิน เพื่อให้ร่างกายได้นำน้ำตาลกลูโคสออกมาใช้ได้ดีขึ้นนั่นเอง

ถึงแม้ว่าโรคเบาหวานชนิดที่ 1 และ 2 หรือชนิดอื่นๆ จะเป็นโรคที่ไม่สามารถรักษาให้หายขาดได้ แต่การดูแลตัวเองให้เหมาะสมกับชนิดของเบาหวานที่เป็น ร่วมกับการเสริมสร้างสุขภาพดีจากภายในอย่างการรับประทานอาหารที่ดีมีประโยชน์ และหมั่นออกกำลังกายเป็นประจำ ก็จะช่วยเสริมให้ร่างกายแข็งแรงและลดโอกาสเกิดภาวะแทรกซ้อนจากเบาหวานได้ 

เบาหวานชนิดที่ 1 และ เบาหวานชนิดที่ 2 แตกต่างกันอย่างไร

โรคเบาหวานชนิดที่ 1 (Diabetes Mellitus Type 1)

  • มักพบในเด็กและวัยรุ่น โดยพบมากในช่วงอายุ 4-7ปี และ 10-14ปี
  • ไม่เกี่ยวข้องกับน้ำหนัก หรือรูปแบบการใช้ชีวิต
  • ผู้ป่วยส่วนใหญ่มักได้รับการวินิจฉัยจากที่มีภาวะเลือดเป็นกรด จากกรดคีโตนคั่ง
  • รักษาด้วยการฉีดอินซูลิน หรืออินซูลินปั๊ม
  • หากไม่ใช้อินซูลิน จะควบคุมอาการของโรคไม่ได้
  • เบาหวานชนิดที่ 1 ยังไม่มีวิธีป้องกันได้

โรคเบาหวานชนิดที่ 2 (Diabetes Mellitus Type 2)

  • มักพบในผู้ที่มีอายุ 30 ปีขึ้นไป
  • ผู้ที่มีน้ำหนักเกินเกณฑ์ เป็นโรคอ้วน หรือมีภาวะเสี่ยงเบาหวาน (Prediabetes) คือ น้ำตาลในเลือดสูงกว่าปกติเล็กน้อย กลุ่มนี้ จะยิ่งมีความเสี่ยงเพิ่มขึ้น
  • หากมีคนในครอบครัว เป็นเบาหวาน ชนิดที่ 2 จะยิ่งเพิ่มความเสี่ยงมากขึ้น
  • ผู้ที่ไม่ค่อยออกกำลังกาย หรือมีภาวะอ้วนลงพุง จะยิ่งมีความเสี่ยงเพิ่มขึ้น
  • ผู้ป่วยส่วนใหญ่ มักตรวจพบว่ามีระดับความดันโลหิตสูง
  • มักไม่มีอาการ ผู้ป่วยส่วนใหญ่จึงไม่รู้ตัวว่าเป็นเบาหวานชนิดที่ 2
  • ส่วนใหญ่ หากยังอยู่ในระยะเริ่มแรก และระดับน้ำตาลในเลือดไม่สูงมาก สามารถรักษาได้โดยไม่ต้องใช้ยา
  • สามารถป้องกัน ชะลอ หรือควบคุมอาการได้ด้วยการปรับเปลี่ยนพฤติกรรม เช่น ออกกำลังกายเป็นประจำ กินอาหารมีประโยชน์

 


บทความที่เกี่ยวข้อง

สาระสุขภาพอื่นๆ