เป็นโรคเบาหวานกินของหวานได้ไหม?

อ่าน 530 ครั้ง 02/Aug/23


 

เป็นโรคเบาหวานกินของหวานได้ไหม? 

กินได้! แต่ต้องควบคุมให้พอดี อีกทั้งยังต้องปรึกษาแพทย์เพื่อประเมินเฉพาะบุคคลเพราะแต่ละคนความหนักเบาของโรคแตกต่างกัน และทานได้เป็นบางครั้งบางคราวเท่านั้นเพราะการทานหวานๆ อาจต้องแลกเปลี่ยนกับข้าว ไขมัน และผลไม้ในมื้อนั้น หลักการกินที่แพทย์แนะนำ

  • ไอศกรีม 1 ก้อน ให้งดผลไม้และอาหารทอดในมื้อนั้น
  • ตะโก้ 4 กระทง (1x1 นิ้ว) ให้งดผลไม้และอาหารทอดในมื้อนั้น
  • เค้กไม่มีหน้า 1 อันกลมให้งดข้าว 1 ทัพพีในมื้อนั้น
  • ซ่าหริ่ม 1 ถ้วย ให้งดข้าว 1 ทัพพีงดผลไม้และอาหารทอดในมื้อนั้น

สำหรับขนมหวานจัดที่ควรงด เช่น ทองหยิบ ทองหยอด สังขยา ขนมหม้อแกง ขนมเชื่อม ขนมกวน ขนมหน้านวล ขนมอะลัว เป็นต้น นอกจากนี้น้ำหวานทั้งชนิดอัดลมและไม่อัดลม น้ำหวานเข้มข้นผสมน้ำ ลูกอมชนิดต่างๆ ของหวานเหล่านี้ไม่มีสารอาหารที่เป็นประโยชน์อื่นๆ นอกจากน้ำตาล จึงไม่เหมาะกับผู้ป่วยเบาหวาน เพราะจะทำให้ระดับน้ำตาลในเลือดสูงขึ้นรวดเร็ว ยกเว้นเมื่อผู้ป่วยมีอาการ น้ำตาลในเลือดต่ำ เริ่มรู้สึกหิวจัด เวียนหัว ตาลาย ควรดื่มน้ำหวานไม่เกิน 1 แก้ว

อย่างไรก็ตามขอย้ำว่าผู้ป่วยควรกินในระยะที่ควบคุมน้ำตาลในเลือดได้ และไม่ควรงดข้าวทั้งหมดและรับประทานขนมแทน เพราะผู้ป่วยจะรู้สึกไม่อิ่มทำให้ต้องหาอาหารอื่นรับประทานเพิ่ม ซึ่งจะทำให้อาหารมากกว่าปริมาณที่กำหนด เป็นเหตุให้ไม่สามารถควบคุมน้ำตาลในเลือดได้

การเลือกรับประทานอาหารเพื่อควบคุมระดับน้ำตาลในเลือด

  • ดื่มน้ำเปล่าให้เพียงพอ ไม่ปล่อยให้ร่างกายขาดน้ำ เนื่องจากจะทำให้รู้สึกหิวและเพิ่มความอยากของหวานมากขึ้น
  • ข้าว ก๋วยเตี๋ยว ขนมปัง กินได้ตามปกติ ไม่ต้องลดลงมาก นอกจากผู้ที่อ้วนให้ลดลงครึ่งหนึ่ง
  • ผลไม้กินได้ตามจำนวนที่กำหนด วันละ 2-3 ครั้งแทนขนมเลือกกินผัก ผลไม้ทั้งกากแทนการคั้นดื่มแต่น้ำ
  • กินผักให้มากขึ้นทุกมื้อ เลือกเนื้อสัตว์ไม่ติดมันและหนังเลือกกินปลาและเต้าหู้ให้บ่อยขึ้น
  • ไข่กินได้สัปดาห์ละ 2-3 ฟอง ถ้าไขมันในเลือดสูงให้งดไข่แดง
  • ใช้น้ำมันพืชจำพวกน้ำมันถั่วเหลือง น้ำมันรำในการทอด ผัดอาหารแต่พอควร
  • เลือกดื่มน้ำนมไม่มีไขมัน น้ำนมพร่องมันเนยแทนน้ำนมปรุงแต่งรส
  • หลีกเลี่ยงน้ำหวาน น้ำอัดลม ลูกอม ช็อกโกแลตและขนมหวานจัดต่าง ๆ
  • หลีกเลี่ยงอาหารใส่กะทิ ไขมันสัตว์ อาหารทอดเป็นประจำรวมทั้ง ขนมอบ เช่น พัฟ เพสตรี้ ฯลฯ
  • เลือกอาหารที่มีไขมันน้อย เช่น ต้ม นึ่ง ย่าง ผัด ที่ใช้น้ำมันน้อยแทนการทอด
  • รับประทานอาหารสอ่อนเค็ม

ผู้ป่วยโรคเบาหวานในปัจจุบัน มีอิสระในการเลือกอาหารมากขึ้น และอาหารที่แนะนำให้ผู้ป่วยโรคเบาหวานก็ไม่ได้แตกต่างจากอาหารคนปกติทั่วไป เพียงแต่ผู้ป่วยเบาหวานจำเป็นต้องเรียนรู้วิธีการเลือกชนิดอาหาร ปริมาณและการแลกเปลี่ยนและการทดแทนอาหาร เพื่อควบคุมระดับน้ำตาลในเลือดรวมทั้งพบแพทย์เพื่อติดตามอาการสม่ำเสมอด้วย


บทความที่เกี่ยวข้อง

สาระสุขภาพอื่นๆ