อาการคันในผู้ป่วยโรคไต - อาการคันเกิดจากอะไร

อ่าน 347 ครั้ง 25/Jul/23


 

ผู้ป่วยโรคไตที่ประสบปัญหาอาการคัน มักเป็นผู้ป่วยโรคไตเรื้อรัง ซึ่งพบบ่อยถึง 90% ซึ่งอาการคันทำให้ผู้ป่วยรู้สึกไม่สบายตัว และเกิดผลกระทบทั้งด้านร่างกายและจิตใจ ทำให้คุณภาพชีวิตของผู้ป่วยแย่ลง ซึ่งสาเหตุที่ทำให้เกิดอาการคันนั้น มาจากผลกระทบของโรคไตและการรักษา 

สาเหตุที่ทำให้เกิดอาการคันในผู้ป่วยโรคไต

  1. ต่อมเหงื่อลดลง และต่อมไขมันฝ่อ อันเนื่องมาจากโรคไตหรือการกินยาขับปัสสาวะ พบได้บ่อยถึง 60 – 90% ทำให้ไม่มีการขับเหงื่อ ความชุ่มชื้นบนผิวจึงลดลง ส่งผลให้ผู้ป่วยเกิดภาวะผิวแห้ง มีลักษณะเป็นขุย ระคายเคือง และเกิดอาการคันตามมานั่นเอง

  2. ฟอสฟอรัสในเลือดสูง ซึ่งผู้ป่วยโรคไตไม่สามารถขับออกทางไตได้ ส่งผลให้ระดับแคลเซียมต่ำฮอร์โมนพาราไทรอยด์หลั่งออกมามากกว่าปกติ และเกิดการสะสมตัวของผลึกแคลเซียมและแมกนีเซียมบริเวณผิวหนัง จึงทำให้เกิดอาการคัน

  3. การฟอกไต ทั้งการฟอกไตที่ไม่เพียงพอ หรือการฟอกไตบ่อยอย่างต่อเนื่อง ปัจจัยเหล่านี้ล้วนเกี่ยวข้องกับภาวะของเสียคั่งของผู้ป่วย ทำให้เกิดอาการคันตามมา นอกจากนี้ยังอาจเกิดมาจากการแพ้ไส้กรองล้างไตอีกด้วย

  4. กลไกทางระบบภูมิคุ้มกัน เกิดภาวะอักเสบทั่วร่างกาย จากการเพิ่มขึ้นของเซลล์บางชนิด เม็ดเลือดขาว และเฟอร์ริดิน ซึ่งปัจจัยเหล่านี้ทำให้เกิดภาวะคันทั่วร่างกาย

  5. ระบบประสาทส่วนปลายทำงานผิดปกติ จึงทำให้เส้นประสาทที่มาเลี้ยงผิวหนังทำงานผิดปกติ นำไปสู่อาการคัน

แม้อาการคันในผู้ป่วยโรคไต จะดูเหมือนเป็นเพียงเรื่องปกติทั่วไป แต่แท้จริงแล้ว อาการคันเหล่านี้สร้างผลกระทบให้กับผู้ป่วยไตทั้งทางด้านร่างกายและจิตใจ ทำให้คุณภาพในการใช้ชีวิตของผู้ป่วยลดลง ซึ่งหากปล่อยไว้จะยิ่งส่งผลเสีย อาจทำให้อาการป่วยที่เป็นอยู่แย่ลงได้

  • ไม่สบายตัว ทำให้หงุดหงิดและอารมณ์เสียง่าย
  • นอนไม่หลับ หรือนอนหลับยาก เนื่องมาจากอาการคัน
  • อาจเป็นแผลหรือแผลติดเชื้อ เพราะการเกาผิวหนัง
  • ร่างกายพักผ่อนไม่เพียงพอ ในบางรายต้องตื่นขึ้นมาเกาในตอนกลางดึก
  • มีอาการเพลีย เหนื่อยล้า
  • มีอาการซึมเศร้า ส่งผลต่อสุขภาพจิต จนอาจนำไปสู่โรคซึมเศร้าได้
  • เกิดปัญหาสุขภาพหรือโรคแทรกซ้อนต่าง ๆ ตามมา จนทำให้อาการป่วยแย่ลง

อาการคันในผู้ป่วยโรคไต สร้างความรุนแรงและผลกระทบต่อร่างกายและจิตใจ ดังที่กล่าวไปข้างต้น ดังนั้น การบรรเทา รักษา และป้องกันอาการคันเหล่านี้ ไม่ให้ส่งผลต่อการใช้ชีวิตของผู้ป่วย จึงเป็นเรื่องสำคัญมาก ซึ่งสามารถปฏิบัติได้ ดังนี้

  • หลีกเลี่ยงอาหารที่มีฟอสฟอรัสสูง เช่น นม ไข่แดง เนื้อสัตว์ อาหารสำเร็จรูป รวมทั้งหลีกเลี่ยงอาหารที่มีรสจัดและเครื่องดื่มชา กาแฟ น้ำอัดลม และแอลกอฮอล์ด้วย
  • ใส่เสื้อผ้าที่ไม่รัดแน่นและมีเนื้อผ้าโปร่งสบาย เช่น ผ้าคอนตอน ผ้าใยฝ้าย พยายามหลีกเลี่ยงการใส่เสื้อขนสัตว์ เพราะจะทำให้คันยิ่งกว่าเดิม
  • พยายามไม่อาบน้ำร้อนและบ่อยเกินกว่าวันละ 1-2 ครั้ง หากต้องการทำความสะอาดร่างกายมากกว่า 2 ครั้ง อาจใช้เป็นวิธีการเช็ดตัวแทน
  • เลือกใช้สบู่ที่ไม่ทำให้เกิดการระคายเคือง
  • ตัดเล็บให้สั้นและสะอาดอยู่เสมอ
  • หมั่นทาโลชั่น เพื่อเติมความชุ่มชื้นให้ผิวไม่แห้งกร้าน จะช่วยลดอาการคันลงได้

 


บทความที่เกี่ยวข้อง

สาระสุขภาพอื่นๆ