อ่าน 239 ครั้ง 17/Jul/23
หากผู้ป่วยเบาหวานมีน้ำตาลในเลือดสูงอยู่ในระดับที่อันตราย ต้องได้รับการดูแลที่ใกล้ชิดจากแพทย์ เพราะการรักษาระดับน้ำตาลในเลือดในผู้ป่วยเบาหวานถือเป็นเรื่องที่ต้องปฏิบัติอย่างเคร่งครัด ซึ่งเคล็ดลับต่อไปนี้จะช่วยให้ผู้ป่วยเบาหวานสามารถดูแลตัวเองได้อย่างมีคุณภาพทุกวัน
1. กินอาหารเหมาะสม
ควรเลือกกินข้าวไม่ขัดสีช่วยควบคุมปริมาณคาร์โบไฮเดรตที่เหมาะสม เลือกกินอาหารที่มีกากใยสูง ผัก ผลไม้ ที่สำคัญควรเลี่ยงอาหารที่มีส่วนผสมของน้ำตาลสูง เช่น น้ำอัดลม น้ำหวาน ขนมหวาน ลูกอม เป็นต้น นอกจากนี้ควรกินอาหารเป็นเวลาหรือมื้อเล็กๆ วันละหลายมื้อเพื่อช่วยคุมระดับน้ำตาลในเลือดให้คงที่ตลอดวัน
2. ออกกำลังกายเป็นประจำ
การออกกำลังกายจำเป็นอย่างมาก สำหรับผู้ป่วยเป็นเบาหวาน เพราะหากทำอย่างสม่ำเสมอมีส่วนช่วยลดระดับน้ำตาลในเลือดได้ แต่จะต้องไม่หักโหมเกินกำลัง เช่น หากเป็นผู้สูงอายุอาจกายบริหารร่างกายบนเตียง หรือขณะนั่งบนโซฟา เดินหรือวิ่งเหยาะๆ เป็นต้น พยายามให้ร่างกายได้เคลื่อนไหวอยู่เสมอ และที่ไม่ควรมองข้ามคือการระวังระดับน้ำตาลในเลือดต่ำ เมื่อออกกำลังกายควรกินอาหารให้สอดคล้องกับพลังงานที่ต้องใช้
3. ดูแลความสะอาดของเท้าทุกวัน
ควรล้างเท้าให้สะอาดและเช็ดให้แห้งก่อนนอนทุกคืน เพื่อป้องกันการอับชื้นซึ่งเป็นสาเหตุทำให้เกิดแผลได้ง่าย เลือกใช้รองเท้าที่ไม่คับหรือหลวมเกินไป ที่สำคัญควรตรวจดูเท้าอยู่เสมอว่ามีแผล รอยช้ำ หรือมีเล็บขบหรือไม่ เพราะผู้ป่วยเบาหวานมักมีความผิดปกติของปลายประสาท ทำให้รู้สึกชาที่เท้า เป็นแผลแล้วหายยาก จึงต้องตัดเล็บอย่างระมัดระวัง และคอยสังเกตความผิดปกติของเท้าเป็นประจำ
4. กินยาหรือฉีดอินซูลินตามแพทย์แนะนำอย่างเคร่งครัด
ยาสำหรับผู้ป่วยเบาหวานแบ่งเป็น 2 ประเภท คือ ยาชนิดกินและชนิดฉีด สำหรับยาเบาหวานชนิดฉีดจะฉีดเฉพาะเมื่อไม่สามารถควบคุมระดับน้ำตาลได้จากการกินยาแล้วเท่านั้น ส่วนยาเบาหวานชนิดกินมีทั้งแบบกินก่อนอาหาร พร้อมอาหาร และกินหลังอาหาร ซึ่งการกินยาจะอยู่ภายใต้การดูแลของแพทย์ ผู้ป่วยจำเป็นต้องปฏิบัติตามอย่างเคร่งครัดเผื่อการควบคุมระดับน้ำตาลในเลือดและภาวะแทรกซ้อนต่างๆ
5. พบแพทย์และตรวจร่างกายตามนัด
การพบคุณหมอตามนัดเป็นอีกเรื่องที่ต้องปฏิบัติตามอย่างเคร่งครัด เพื่อให้คุณหมอประเมินและปรับเปลี่ยนแผนการรักษาให้เหมาะสมตามอาการ ไม่ควรหยุดหรือเพิ่มยาเอง หากคุณหมอนัดมาเจาะเลือดตรวจควรงดอาหารหลังเที่ยงคืน หลังจากเจาะเลือดเรียบร้อยแล้วก็สามารถกินอาหารได้ และกินยาหรือฉีดอินซูลินตามคุณหมอสั่ง
นอกจากการดูแลตัวเองอย่างสม่ำเสมอแล้ว ผู้ป่วยเบาหวาน และคนที่ดูแลผู้ป่วย จำเป็นต้องเรียนรู้ทำความเข้าใจเกี่ยวกับโรคเบาหวานและการดูแลรักษาตนเองทั้งในภาวะปกติ และเมื่อต้องเจอกับภาวะฉุกเฉินด้วย