อ่าน 392 ครั้ง 27/Jun/23
โรคไขมันในเลือดสูง เกิดจาก 2 สาเหตุหลักๆ คือ การถ่ายทอดทางพันธุกรรม และจากการกินอาหารที่มีไขมันสูงรวมถึงไม่ได้ออกกำลังกาย ซึ่งจะส่งผลให้มีภาวะคอเลสเตอรอลสูงในเลือด มีไตรกลีเซอร์ไรด์สูงและมีระดับไขมันดีต่ำ ซึ่งเมื่อเป็นแล้วมักจะเกิดการอุดตันในหลอดเลือดแดง และส่งผลทำให้เกิดโรคเส้นเลือดหัวใจตีบ โรคหลอดเลือดสมองและโรคอัมพฤกษ์ เป็นต้น
1. กระเทียม
หลายๆ คนคงคุ้นเคยว่ากระเทียมถือเป็นสมุนไพรคู่ครัวคนไทย ซึ่งเราควรกินกระเทียมให้ได้วันละประมาณ 10 กลีบเล็ก ก็จะสามารถช่วยลดความเสี่ยงในการเกิดโรคหัวใจ และยังมีส่วนช่วยในการลดไขมันในร่างกายได้
2. กระเจี๊ยบแดง
ปกติเรากินกระเจี๊ยบแดงในรูปแบบของน้ำกระเจี๊ยบ ซึ่งถ้าหากปรุงรสให้หวานน้อย ก็จะช่วยดูแลสุขภาพได้ เพราะว่ามีสรรพคุณในการช่วยลดความดันและลดไขมันในเลือดได้
3. น้ำมันรำข้าว
น้ำมันรำข้าว มีไขมันดีที่ช่วยเร่งกระบวนการเผาผลาญไขมันในร่างกาย และไขมันดียังสามารถช่วยลดคอเลสเตอรอลและช่วยลดไขมันในเลือดได้ด้วย รวมถึงยังมีโอเมก้า 6 ที่ช่วยรักษาผิวพรรณให้เต่งตึงหลังจากที่เราลดความอ้วนได้อีกด้วย
4. ว่านหางจระเข้
วุ้นด้านในของว่านหางจระเข้นั้นมีไฟเบอร์อยู่เยอะค่ะ ซึ่งเมื่อเรารับประทานเข้าไปก็จะเข้าไปช่วยลดพื้นที่ในกระเพาะ ทำให้เราอิ่มเร็วขึ้น ถือเป็นการลดน้ำหนักได้ แต่นอกเหนือจากนั้น วุ้นในว่านหางจระเข้ยังมีสรรพคุณช่วยในการลดไขมันในเลือด ช่วยลดคอเลสเตอรอล โดยมีงานวิจัยพบว่าการกินว่านหางจระเข้ประมาณ 500 mg. หรือ 3 ช้อนโต๊ะ เช้าเย็นติดต่อกันอย่างน้อย 1 เดือนขึ้นไป จะช่วยลดไขมันในเลือดและลดน้ำหนักได้
5. ดอกคำฝอย
ดอกคำฝอย นอกจากสรรพคุณในเรื่องของการบำรุงโลหิตแล้ว ดอกคำฝอยยังสามารถช่วยลดไขมันในเลือดได้เช่นเดียวกัน
6. ขิงและขมิ้น
ขิงและขมิ้น จัดเป็นสมุนไพรที่ช่วยขับลม แก้ท้องอืด ท้องเฟ้อ และช่วยในเรื่องของระบบขับถ่าย แต่นอกจากนี้ยังสามารถช่วยลดน้ำหนักและลดไขมันในเลือดได้
7. ตรีผลา
สมุนไพรตรีผลา คือสมุนไพรที่ประกอบไปด้วย มะขามป้อม สมอพิเภกและสมอไทย ซึ่งถือเป็นตำรับยาโบราณ ช่วยในการ Detox ขับของเสียออกจากร่างกายและลำไส้ ช่วยลดไขมันในเลือด และช่วยให้ระบบขับถ่ายในร่างกายทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ
สำหรับข้อควรระวังในการกินสมุนไพรเหล่านี้ นั่นก็คือในคนที่กินยาละลายลิ่มเลือดกลุ่มวาฟาริน จะต้องระวังเป็นพิเศษ ควรต้องปรึกษาแพทย์หรือเภสัชกรก่อนกินหรือเลี่ยงไปเลยก็ได้ เพราะว่าสมุนไพรบางประเภท เช่น ขมิ้น ขิง กระเทียม และดอกคำฝอย อาจจะไปเสริมฤทธิ์ยาวาฟารีน ทำให้ระดับยาในเลือดสูงขึ้นและอาจจะเพิ่มความเสี่ยงต่อการเกิดเลือดออกได้