กรดยูริกมาจากไหน - โรคเก๊าท์

อ่าน 316 ครั้ง 28/Sep/23


 

กรดยูริกมาจากไหน - โรคเก๊าท์

กรดยูริก (Uric Acid) เป็นสารที่เกิดจากกระบวนการทางเคมีในร่างกายตามธรรมชาติ ในขณะที่มีการสร้างหรือซ่อมแซมเซลล์ต่างๆ และอีกส่วนหนึ่งเกิดจากการรับประทานอาหารที่มีกรดยูริกสูง เช่น สัตว์ปีก เครื่องในสัตว์ ยอดผัก ถั่วต่างๆ หรือการดื่มเครื่องดื่ม เช่น เบียร์ น้ำผลไม้ที่มีน้ำตาลฟรุคโตส 

เมื่อร่างกายมีกรดยูริกมากเกินกว่าความสามารถของไตจะขับออกได้ หรือไตมีความเสื่อมจนความสามารถในการขับกรดยูริกออกจากร่างกายลงลง เช่น ในผู้ป่วยไตเสื่อมหรือไตวาย ก็จะทำให้มีการสะสมของกรดยูริกมากขึ้นอีก

การเกิดข้ออักเสบในผู้ป่วยที่มีระดับกรดยูริกในเลือดสูงอยู่แล้ว อาจเกิดจากการกินอาหารมื้อใหญ่ หรืออาหารที่มีกรดยูริกสูงซึ่งบางครั้งแม้ได้รับในปริมาณที่ไม่มาก แต่เหมือนเป็นการเติมเข้าไปจากที่สะสมอยู่จนถึงระดับที่ร่างกายแสดงอาการออกมา ซึ่งในแต่ละคนจะมีความรุนแรงไม่เท่ากัน

ในปัจจุบันยังพบว่า การมีกรดยูริกสะสมในร่างกายปริมาณมากเป็นเวลานานจะทำให้เกิดภาวะไตเสื่อม เกิดโรคความดันโลหิตสูง ซึ่งนำไปสู่โรคหัวใจ โรคเส้นเลือดสมอง เพิ่มความเสี่ยงเป็นอัมพฤกษ์อัมพาตได้มากขึ้น โดยข้อมูลจากการศึกษาพบว่า ผู้ป่วยชายที่เป็นโรคไตวายจนต้องได้รับการรักษาด้วยการฟอกไต ส่วนหนึ่งเกิดจากการเป็นโรคเก๊าท์หรือมีภาวะกรดยูริกในเลือดสูงมาก่อน ในขณะที่ผู้ป่วยหญิงที่ฟอกไตส่วนมากเกิดจากการเป็นโรคเบาหวาน

คำแนะนำในการปฏิบัติตัวสำหรับผู้ป่วยโรคเก๊าท์หรือมีกรดยูริกในเลือดสูง

  1. ทานยาตามแพทย์สั่งอย่างเคร่งครัด
  2. ดื่มน้ำวันละมากๆ เพื่อช่วยขับกรดยูริกออกจากร่างกาย และช่วยให้ไตทำงานดีขึ้น
  3. หลีกเลี่ยงอาหารที่มีกรดยูริกสูง และเครื่องดื่มแอลกอฮอล์
  4. เมื่อต้องเข้ารับการรักษาโรคอื่น หรือรับการผ่าตัด ควรแจ้งให้แพทย์ทราบว่าเป็นโรคเก๊าท์ เพื่อหลีกเลี่ยงยาที่อาจมีผลต่อโรคเก๊าท์ หรือป้องกันโรคเก๊าท์กำเริบหลังผ่าตัด
  5. เข้ารับการตรวจ ติดตามอาการ และผลการรักษาตามแพทย์นัดอย่างสม่ำเสมอ

 


บทความที่เกี่ยวข้อง

สาระสุขภาพอื่นๆ